green and brown plant on water

ตัดสังโยชน์ 10

เวลาอ่าน : 3 นาที

เสียงธรรมจากห้อง  “เมตตาภิรมย์กรรมฐาน” 

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566

เรื่อง ตัดสังโยชน์ 10

โดย อาจารย์ คณานันท์ ทวีโภค

กำหนดสติในความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ผ่อนคลายร่างกาย ปล่อยวางตัดร่างกายตัดขันธ์ห้า ตัดความห่วงความกังวล สภาวะที่จิตเกาะกาย จงผ่อนคลายปล่อยวางสลายออกไปให้หมด ปล่อยวางจิตใจความกังวลปลิโพธทั้งหลายออกไปจากจิต เหลือแต่เพียงสติที่จดจ่อกำหนดรู้อยู่กับลมหายใจสบาย ลมหายใจที่เป็นเหมือนกับแพรวไหมพลิ้วผ่านเข้าออกภายในกาย ทรงอารมณ์อยู่กับอารมณ์จิตที่สบาย จินตภาพเห็นลมหายใจพลิ้วผ่านเข้าออกต่อเนื่อง จิตติดตามดูติดตามรู้ในลมหายใจตลอดสาย จิตติดตามรู้ในอารมณ์สบาย 

เมื่อสติเข้าถึงสมาธิเข้าถึงความสงบ ลมหายใจละเอียดเบา อารมณ์จิตมีความสงบมีความเบาสบายแล้ว เราก็กำหนดจิตพิจารณาในธรรมต่อไป

เมื่อจิตของเราในขณะนี้เข้าถึงความสงบในอานาปานสติ อารมณ์แห่งสมถะยังมีอารมณ์จิตที่สูงกว่านี้ เรากำหนดในความสงบนิ่ง เข้าถึงตัวหยุดตัวนิ่ง เข้าถึงเอกัตคตารมณ์ สงบนิ่งหยุด เมื่อหยุดจิตได้แล้ว  กำหนดในความหยุดความนิ่งนั้น ปรากฏจินตภาพเป็นภาพดวงแก้ว ดวงแก้วแห่งกสิณ เชื่อมโยงกสิณกับจิตของเรา กสิณคือจิต จิตคือกสิณ จากดวงแก้วค่อยๆใสขึ้น สว่างขึ้น ดวงแก้วสว่างใสเป็นอุคหนิมิต  ทรงอารมณ์ในอุคหนิมิต ดวงแก้วสว่าง จากดวงแก้วที่สว่างก็กำหนดจิตต่อไป ให้เห็นเป็นปฏิภาคนิมิต คือกำหนดจิตเห็นจิตที่เป็นแก้วสว่างค่อยๆปรากฏสภาวะกลายเป็นเพชรที่เจียระไนโดยละเอียด เป็นทรงกลมเจียระไนละเอียดโดยรอบ แสงรัศมีเป็นประกายพรึก คือเป็นประกายรุ้งแพรวพราวพุ่งออกมาจากดวงจิตของเรา สภาวะความสว่างความแพรวพราวความระยิบระยับของดวงจิตเป็นปฏิภาคนิมิต กำหนดว่าจิตคือกสิณ กสิณคือจิต จิตคือเพชรประกายพรึก จิตเป็นปฏิภาคนิมิต จิตเป็นดวงจิตอันประภัสสร ทรงอารมณ์สภาวะที่เห็นจิตเป็นเพชรประกายพรึกสว่าง เข้าถึงจิตอันเป็นประภัสสรด้วยจิตอันเป็นสุข ภายในของเราแย้มยิ้มเบิกบาน ทรงอารมณ์ในสภาวะที่จิตเป็นเพชรประภัสสรนั้น 

เมื่อทรงอารมณ์จิตในกสิณจิต ซึ่งจิตเป็นเพชรประภัสสรแล้ว อารมณ์ทรงตัวแล้ว เราก็กำหนดต่อไป  เพิกดวงกสิณ ดวงกสิณนั้นถือว่าเป็นรูปสมาบัติ เรากำหนดจิต เห็นรูปสมาบัตินั้นค่อยๆสลายตัวเป็นผงไป สภาวะโดยรอบก็กลายเป็นความว่างเวิ้งว้างว่างเปล่า รูปทั้งหลายสลายตัวเป็นความว่าง วัตถุธาตุทั้งหลายสลายตัวเป็นความว่าง แม้แต่จักรวาลก็สลายกลายเป็นความว่าง 

กำหนดว่าจิตเราไร้รูป อยู่ในสภาวะท่ามกลางความโล่งว่างอันไม่มีประมาณ ขาว โล่ง ว่าง ไม่มีพื้น ไม่มีเพดาน ทรงสภาวะทรงอารมณ์ในความว่างของอรูปสมาบัติไว้ 

เมื่ออยู่ในความว่าง เมื่อไร้ซึ่งรูปไร้ซึ่งกายไร้ซึ่งวัตถุก็ไร้สิ่งที่มากระตุ้นทางอายตนะคือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งปวง เมื่อไร้ซึ่งการกระตุ้นไร้ซึ่งการกระทบก็ย่อมไร้ซึ่งการปรุงแต่งทางอารมณ์ จิตก็ปราศจากความสุขความทุกข์ จิตก็วางเฉยเป็นอุเบกขาในอรูปเพราะไร้การกระทบไร้การปรุงแต่ง อยู่ท่ามกลางความว่างแห่งอารมณ์ทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เข้าถึงสภาวะความว่างแห่งอรูปสมาบัติ ว่าง โล่ง สงบ

จากอรูปสมาบัติเรากำหนดต่อไปว่าเราทรงอารมณ์จนกระทั่งอารมณ์จิตมีความทรงตัวพอสมควรเป็นกำลังของสมถะสูงสุด คืออรูปฌานมาเป็นกำลังในวิปัสสนาญาณ

จากนั้นเราใช้กำลังของอรูป ทรงอารมณ์ทรงภาพพุทธานุสติ กำหนดน้อมจิตรำลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะเป็นที่พึ่งที่อาศัย ปรากฏภาพพระพุทธองค์เป็นเพชรระยิบระยับสว่างชัดเจนอยู่ท่ามกลางความว่าง ขาว โล่งทั้งปวงนั้น

จากนั้นอธิษฐานจิตขอปรากฏอาทิสมานกายคือกายทิพย์ของเรา เป็นกายพระวิสุทธิเทพอยู่เบื้องหน้าองค์พระ กำหนดจิตขอบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ใช้กายที่เป็นกายทิพย์ จะเป็นกายพระวิสุทธิเทพน้อมจิตกราบพระพุทธองค์ อารมณ์จิตเข้าถึงความนอบน้อม เคล็ดลับเคล็ดวิชาของการทรงในอารมณ์ของพุทธานุสติกรรมฐานก็คือจิตมีความนอบน้อม จิตมีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความรักในพระพุทธองค์สุดหัวจิตหัวใจ น้อมจิตกราบแทบเบื้องพระบาทของพระพุทธองค์

จากนั้นกำหนดจิตอธิษฐาน ขอบารมีพระพุทธองค์ทรงสงเคราะห์ ยกอาทิสมานกายและพุทธนิมิตนั้นปรากฏยกขึ้นสู่พระนิพพาน ตั้งใจว่านับแต่นี้ทุกครั้งที่จิตเรารำลึกถึงพระพุทธเจ้า เรากำลังนึกถึงพระพุทธเจ้าบนพระนิพพาน เมื่อไรที่จิตเราอาทิสมานกายปรากฏอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ เรายกจิตขึ้นมาบนพระนิพพาน ทรงอารมณ์ทรงสภาวะบนพระนิพพานไว้พร้อมกับพิจารณาในสังโยชน์ทั้งสิบ 

ตัดสังโยชน์ทั้งสิบ คือ 

สักยะทิฐิ-ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้าร่างกาย ตัดกายทิ้งกาย ไม่สนใจในร่างกายเนื้อ 

วิจิกิจฉา-ตัดความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย ตัดความลังเลสงสัยว่าเราขึ้นมาบนพระนิพพานได้หรือไม่ ตัดความลังเลสงสัยว่าชาตินี้เราจะนิพพานได้หรือไม่ออกไป

สีลัพพตปรามาส-กำหนดจิตรักษาศีลด้วยเมตตา รักษาศีลเพื่อปิดอบายภูมิ เพื่อตัดภพภูมิ ตัดเหตุแห่งการเกิดไปในอบายภูมิจากการที่เราละเมิดศีล กำหนดจิตให้ศีลของเรามีความสะอาดบริสุทธิ์มั่นคง ไม่ละเมิดศีลด้วยตัวเอง ไม่ใช้ให้ผู้อื่นไปละเมิดศีล ไม่ยินดีที่ผู้อื่นละเมิดศีล 

จากนั้นพิจารณาตัดในความพยาบาทอาฆาตทั้งปวง

ความอาฆาตพยาบาทการจองเวรเป็นเหตุให้เราไปจุติไปเกิดไปพบเจอกับบุคคลที่เราผูกเวรพยาบาท สายกรรมนี้เป็นสายกรรมแห่งโทสะคือความโกรธ โกรธในขั้นสูงถึงขนาดจองเวร เราตัดเราละออกไปจากจิตของเรา ความโกรธในอารมณ์ในจิตเรายอมเต็มที่ในขณะนี้เต็มที่แค่ปฏิฆะคือความหงุดหงิดความรำคาญใจ แต่อารมณ์จิตที่โกรธ อารมณ์จิตที่ขึ้นรุนแรงจนกระทั่งบังคับสติไม่ได้ อารมณ์จิตที่ปรุงแต่งต่อไปจนกระทั่งคิดแค้นคิดอาฆาตคิดพยาบาทคิดเอาคืนไม่มีในจิตของเรา สลายล้างตัดพยาบาทจากจิต สลายล้างความพยาบาทได้เมื่อไร จิตเราจะให้อภัยได้เมื่อนั้น ให้อภัยในทุกคนทุกเหตุการณ์ ให้อภัยกับทุกเรื่องราว ให้อภัยได้ใจเรายิ่งเบา ให้อภัยได้ใจเรายิ่งทุกข์น้อยลง ให้อภัยกับทุกคนทุกเรื่องราวทุกเหตุการณ์ทุกสถานการณ์

จากนั้นพิจารณาตัดสังโยชน์ต่อไปในกามฉันทะทั้งห้า ความพึงพอใจในมนุษย์สมบัติ ความพึงพอใจในสวรรค์สมบัติที่ยังเกี่ยวเนื่องด้วยรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พิจารณาว่าเพราะความอยากนี้จึงเป็นเหตุให้เรามาจุติเป็นมนุษย์มาจุติเป็นเทวดา เพราะเรายังปรารถนายังติดในกามสุข รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  ทั้งหลาย พิจารณาว่าใจเราเมื่ออยู่บนพระนิพพาน จิตเราตั้งมั่นพึงพอใจในพระนิพพานสมบัติ กามคุณมนุษย์สมบัติ กามคุณที่เป็นทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นต่างๆในความเป็นทิพย์ ตั้งแต่รุกขเทวดา ภูมิเทวดา อากาศเทวดา ล้วนแต่เป็นเครื่องล่อให้เราติดอยู่ในภพในภูมิทั้งหลาย สลายล้างความพึงพอใจยินดีในมนุษย์สมบัติทิพยสมบัติ จิตเราพึงพอใจอยู่แต่พระนิพพานสมบัติเพียงจุดเดียว

จากนั้นพิจารณาต่อไปในรูปราคะ ความพึงพอใจในความสุขสงบแห่งฌานสมาบัติอันเป็นพรหมสมบัติ เราพิจารณาว่าความสุขในความสงบในฌานขั้นสูงยังเป็นความสุขที่ทำให้เราติดในภพคือภพแห่งพรหมทั้งสิบหกชั้น ใจเราพึงพอใจอยู่กับพระนิพพานสมบัติมากกว่า ดังนั้นพรหมสมบัติเราไม่เอา กำหนดจิตตัดรูปราคะ ความพึงพอใจในพรหมสมบัติออกไป จิตตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานเป็นที่สุด

พิจารณาตัดสังโยชน์ต่อไปในข้อที่เจ็ด  พิจารณาในอรูปราคะ ความพึงพอใจในอรูปฌาน ความหลงสำคัญผิดคิดว่าความว่างคือพระนิพพาน คิดว่าอรูปความว่างคือพระนิพพาน เราตัดออกไปจากใจของเรา เราใช้อรูปสมาบัติหรืออรูปฌานเพื่อเป็นบาทฐานเป็นกำลังในการประหัตประหารกิเลส ในการพิจารณาต่อในวิปัสสนาญาณ ความเกาะความยึดความสำคัญผิดว่าเพราะอารมณ์แห่งอรูปฌานนั้นคือพระนิพพานไม่มีในจิตเรา

จากนั้นพิจารณาตัดความวุ่นวายฟุ้งซ่านความกังวลทั้งหลายออกไป พิจารณาตัดมานะทิฐิความถือตัวถือตนออกไป แล้วสุดท้ายก็ตัดอวิชชาความหลงในภพภูมิทั้งหลายออกไป ปัญญากระจ่างแจ้งเกิดวิชชาสูงสุด คือเห็นคุณค่าแห่งพระนิพพาน เห็นทุกข์ภัยในสังสารวัฏ ดวงตาเห็นธรรมปรากฏ จิตตัดอวิชชาทั้งปวงเป็นสมุจเฉทปหาน เชื้อที่ผูกที่ล่อให้เราติดอยู่ในสังสารวัฏในภพภูมิทั้งปวง จะเป็นภพภูมิแห่งอบาย ภพภูมิแห่งความเป็นมนุษย์ หรือภพภูมิแห่งสุคติภูมิ อันได้แก่ สวรรค์ พรหม อรูปพรหม ไม่มีกำลังที่จะดึงดูดหรือล่อใจให้เรากลับมาเกิดอีก จิตของเราสำคัญมั่นหมายตั้งมั่นอยู่กับพระนิพพานเพียงจุดเดียว

จากนั้นกำหนดจิตอธิษฐาน ขอให้วิมานบนพระนิพพานของข้าพเจ้าแต่ละบุคคลจงปรากฏ ขอให้อาทิสมานกายข้าพเจ้าจงปรากฏอยู่ที่บนพระนิพพานในวิมานของตน ทรงสภาวะในความเป็นกายแห่งพระวิสุทธิเทพปรากฏชัดเจนอยู่ เมื่อทรงสภาวะในความเป็นกายพระวิสุทธิเทพ เราก็กำหนดจิตพิจารณาดูจิตของเราเองว่าจิตของเรานั้นพึงพอใจในพระนิพพานหรือไม่ พอใจในการดับไม่เหลือเชื้อ คือไม่มีเชื้อแห่งความหยาบในการกลับลงมาเกิดในภพภูมิต่างๆ อีกหรือไม่ พิจารณาว่าเมื่อไรเราเข้าถึงพระนิพพานเมื่อเราตายจากร่างกายขันธ์ห้านี้ หมดวาระแห่งการใช้ขันธ์ห้าหมดอายุขัย  จิตเราขึ้นมาอยู่บนพระนิพพาน แล้วก็ไม่ต้องเกิด ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่ต้องไปชดใช้กรรม ไม่ว่ากรรมนั้นจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว กิจทั้งหลายสิ้นแล้ว ภาระทั้งหลายสิ้นแล้ว ห่วงทั้งหลายเยื่อใยทั้งหลายที่ผูกโยงใยวิญญาณของเราไว้กับโลกไว้กับสามภพภูมิขาดสะบั้นเป็นสมุจเฉทปหานแล้ว กิจในพระพุทธศาสนาจบแล้ว กรรมวิบากทั้งหลายไม่อาจติดตามให้ผลต่อจิตของเราได้อีกต่อไปแล้ว

จิตปลอดโปร่งอย่างยิ่ง ว่างจากสรรพกิเลส ความอยาก โลภ โกรธ หลงทั้งหลาย เรื่องราวความวุ่นวายความทุกข์ทั้งหลาย ไม่อาจกล้ำกลายมามีผลให้เราทุกข์กายทุกข์ใจได้อีกต่อไป จิตเราเป็นสุขอย่างยิ่ง เข้าถึงสภาวะความสุขในอารมณ์แห่งพระนิพพาน “นิพพานัง  ปรมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ทรงอารมณ์พระนิพพานไว้ เสวยวิมุตติสุขบนวิมานที่พระนิพพานของเราแต่ละบุคคล ทรงอารมณ์ภาวนาบริกรรม “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เข้าสู่สภาวะที่ไร้ความหนัก ไร้ความทุกข์ ไร้กระแส ไร้ความวุ่นวาย ไร้การปรุงแต่งทั้งปวง

ทรงอารมณ์พระนิพพานไว้ อาทิสมานกายเรายิ่งสว่างมาก จิตเป็นสุขอย่างยิ่ง วิมานสว่างอย่างยิ่ง จิตว่างจากสรรพกิเลสอย่างยิ่ง อารมณ์จิตของเราแนบอยู่กับพระนิพพาน ทรงอารมณ์ ทรงสภาวะแห่งพระนิพพานไว้

กำหนดรู้ว่าจิตของเราในขณะนี้สะอาดจากสรรพกิเลส เป็นอารมณ์จิตในอารมณ์แห่งอรหัตผลชั่วคราว ในระหว่างที่เราทรงอารมณ์อยู่บนพระนิพพานด้วยกำลังมโนมยิทธิ จิตเราก็ประดุจอารมณ์จิตแห่งพระอรหันต์ หากเราขึ้นมาบนพระนิพพานและเข้าถึงสภาวธรรมนี้มากเข้าบ่อยเข้าจนจิตเกิดธรรมะฉันทะในพระนิพพาน จิตมีอารมณ์แนบอยู่กับพระนิพพาน กิเลสก็ค่อยๆห่างหาย ค่อยๆจางออกไปจากจิตทีละน้อยทีละน้อยจนในที่สุดจิตของเราก็จืด   จากความรัก โลภ โกรธ หลง จืดจางออกไป ห่างออกไป จนกระทั่งจิตเราเข้าสู่สภาวะแห่งอารมณ์พระอรหัตผลอย่างถาวรในที่สุด หากยังไม่ถึงในระหว่างที่มีชีวิตขันธ์ห้าในชาตินี้ก็สามารถเข้าถึงเมื่อจิตออกจากร่างกายที่หมดอายุกายขันธ์ห้า ที่ตัดดับสลายตัวไปและจิตเราก็ถอดจากขันธ์ห้า โดยปราศจากความอาลัย ทิ้งกาย ทิ้งภพทั้งหลาย ทิ้งสังสารวัฏ  ทิ้งความห่วงความอาลัยทั้งปวง เข้าถึงซึ่งอรหัตผล เข้าถึงซึ่งพระนิพพานในจิตสุดท้ายก่อนตาย “ด้วยเหตุนี้จึงเป็นคำอธิษฐานตายเมื่อไรไปพระนิพพาน” ทรงอารมณ์พระนิพพานไว้ ทรงอารมณ์จิตที่มีความผ่องใสอย่างยิ่งไว้ จิตปราศจากการปรุงแต่ง ปราศจากความโลภโกรธหลง มีแต่อารมณ์อันเป็นเอกบรมสุขจากความว่างของกิเลสทั้งหลาย ว่างจากภาระของใจทั้งหลาย

จากนั้นจึงน้อมจิตพิจารณาธรรมอันเป็นเครื่องยังการปฏิบัติให้มีความก้าวหน้ารุดหน้า ให้พิจารณาดูว่าความเพียรของเราในการปฏิบัติธรรมนั้นมีมากน้อยเพียงใด เราเพียรพยายามในการปฏิบัติคู่ควรกับการเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาตินี้ได้แล้วหรือยัง เราขยันยกจิตขึ้นมาบนพระนิพพานในแต่ละวันบ่อยแค่ไหน ข้อต่อมาก็พิจารณาดูว่าเมื่อความเพียรปรากฏขึ้น ความขยันที่เราฝึกที่เราปฏิบัติในแต่ละจุดอันเป็นเหตุที่ทำให้เรามีความก้าวหน้าทั้งสมถะและวิปัสสนา เราฝึกจนเข้าถึงวสี คือความชำนาญในการปฏิบัติ ในการเข้าถึงสภาวธรรมเข้าถึงสภาวะอารมณ์ ตัวสมาธิที่เราฝึก เราสามารถเข้าสู่อารมณ์จิตนั้นเพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียวได้หรือยัง เข้าฌานสี่ในอานาปาคือหยุดจิตทันทีที่กำหนดหยุด หยุดจิต หยุดปรุงแต่ง  เห็นตัวหยุดของจิต เห็นเอกัตคตารมณ์ เข้าถึงอุเบกขา ทำได้ไหม กำหนดจิต พรึบ ปรากฏเป็นกสิณ

ดวงจิตกลายเป็นดวงกสิณ กำหนดจิตดวงกสิณจิตนั้นขยายใหญ่จนเต็มจักรวาล จักรวาลเป็นกสิณ กสิณเป็นจิต จักรวาลเป็นกสิณ จิตเราเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล ธาตุทั้งสี่วัตถุธาตุทั้งหลายในจักรวาลทั้งหมดอนันตจักรวาลทั้งหมด แปรสภาพเป็นเพชรประกายพรึก 

ธาตุดินของทุกดวงดาวกลายเป็นเพชรประกายพรึก

ธาตุน้ำของทุกดวงดาวกลายเป็นเพชรประกายพรึก

ธาตุลมที่พัดผ่านกลายเป็นเพชรประกายพรึก 

ธาตุไฟและพลังงานทั้งหลายทั่วจักรวาลกลายเป็นเพชรประกายพรึก 

แสงสีคลื่นความถี่ทั้งหลาย แดง เขียว เหลือง แสด แดง ส้ม ขาว เขียว ในแสงสีทั้งหลายกลายเป็นเพชรประกายพรึก แสงสว่างคืออาโลกสิณ แสงสว่างจากดวงดาวดาวฤกษ์ทั้งหลายกลายเป็นเพชรประกายพรึก 

ความว่างคือช่องว่าง ระหว่างดวงดาวในอวกาศทั้งหลาย ที่ว่างทั่วอวกาศคือความว่าง ที่ว่างทั้งหลายกลายเป็นเพชรประกายพรึก

รวมความว่าจักรวาลทั้งหลายไม่พ้นกำลังแห่งกสิณจิตของเราที่กลายเป็นเพชรประกายพรึกไปทั้งหมด

จักรวาลคือกสิณ กสิณครอบคลุมทั่วจักรวาล กายเนื้อของเราทั่วทุกส่วนก็กลายเป็นเพชรประกายพรึกเพราะประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ จิตของเราทรงอารมณ์แห่งกสิณสูงสุดในสภาวะ กสิณคือจักรวาล จักรวาลคือกสิณ ทุกสรรพสิ่งแม้แต่กายเนื้อของเราก็กลายเป็นกสิณไปทั้งหมด เราเป็นหนึ่งเดียวกับกสิณ กสิณเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล เข้าสู่สภาวะที่ทุกสรรพสิ่งอันเป็นทาสของหยาบทั้งปวง เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลและเปล่งพลังแห่งกสิณ

จากนั้นกำหนดจิตเพิกกสิณแห่งจักรวาลสว่างวาบ จักรวาลกลายเป็นความขาว โล่ง ว่าง ไร้ทุกสรรพสิ่ง มีพลังงานมหาศาล สลายจักรวาลทั้งหลาย สลายตัวเป็นผุยผงกลายเป็นความว่าง ไร้รูป ไร้ร่องรอย  ขาว โล่ง ว่าง

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป จากอรูป กำหนดจิตว่าเรายกจิตใช้กำลังอรูปยกอาทิสมานกายขึ้นมาบนพระนิพพาน เห็นตัวเราอยู่เบื้องหน้าพระพุทธองค์ได้ทันทีไหม หรือเห็นตนเองปรากฏอยู่ในวิมานบนพระนิพพานในสภาวะกายแห่งพระวิสุทธิเทพได้ไหม  เมื่อทำได้แล้วก็กำหนดจิต ว่าวสีความชำนาญความเชี่ยวชาญในสมถะทั้งปวงได้เกิดขึ้นได้ปรากฏได้งอกงามในจิตของเรา 

จากนั้นพิจารณาต่อไปในความก้าวหน้า เรายังให้ญาณเครื่องรู้ปรากฏขึ้นในจิตเราได้หรือยัง ธรรมะที่ผุดรู้ขึ้นมา เมื่อไรที่เรากระทบ เรื่องราวต่างๆมากระทบ ภาพ รูป รส กลิ่น เสียงทั้งหลายมากระทบ จิตมีธรรมผุดรู้ขึ้น มีวิปัสสนาญาณผุดรู้ขึ้น มีอรรถาธิบายคำอธิบายปรากฏขึ้นในจิต โดยที่จิตรู้สึกถึงการกระทบนั้น รู้ในธรรม รู้ด้วยจิตอันเป็นอุเบกขาไหม เมื่อไรสภาวะเข้าถึงจุดนี้ได้ อารมณ์เราแนบในวิปัสสนาญาณ ความนิ่งกับสิ่งที่มากระทบเราก็จะสูงขึ้น อุเบกขารมณ์ที่ปรากฏต่อสิ่งที่กระทบก็สูงขึ้น สติมีความรู้รอบ มีธรรมปรากฏผุดรู้ ภูมิจิตภูมิธรรมเราก็สูงขึ้น กำหนดว่าสิ่งนี้เริ่มปรากฏในจิตของเรามากขึ้นบ่อยขึ้นแล้วหรือยัง หากปรากฏบ่อยขึ้นจนแทบจะตลอดเวลาตลอดวันที่เราใช้ชีวิตอยู่ในทางโลก อารมณ์จิตเราก็จะนิ่งขึ้นเรื่อยๆ มีสติรู้ทันขึ้นเรื่อยๆ มีธรรมะกำกับ มีการเจริญวิปัสสนาญาณ คือพิจารณาธรรมในทุกการกระทบมากขึ้น ความก้าวหน้าในธรรมความเจริญในธรรมก็ยิ่งสูงขึ้นรุดหน้าขึ้น อารมณ์จิตก็จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ความเป็นพระอริยะเจ้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่อารมณ์จิตเราแนบในวิปัสสนาญาณ พยายามรักษาอารมณ์เบาสบาย อย่าไปตึง อย่าไปเคร่งครัดหรือเคร่งเครียดมากจนกระทั่งอารมณ์หนักและหลุดจากวิปัสสนาญาณที่เราแนบอยู่นั้น ประคับประคองด้วยอารมณ์สบายๆ พิจารณาแล้วเบา พิจารณาแล้วปล่อยวาง 

แต่ละคนลองพิจารณาในจิตของเรานะ คุณธรรมในความเพียรก็ดี คุณธรรมความชำนาญในการฝึกในวสีแห่งสมถะ เราปรากฏขึ้นหรือยัง ญาณเครื่องรู้ปรากฏขึ้นในจิตเราหรือยัง อารมณ์แนบในวิปัสสนาญาณปรากฏขึ้นในจิตเราหรือยัง 

กำหนดรู้กำหนดพิจารณาในจิตของเรา เมื่อพิจารณาธรรมควรแก่กาลแล้ว เราก็กำหนดสภาวะอยู่บนพระนิพพาน แผ่เมตตาอันไม่มีประมาณ น้อมใจของเราน้อมกระแสจากพระนิพพานเป็นแสงสว่าง เป็นกระแสเมตตาความปรารถนาดี กระแสแห่งบุญกุศลความสุขความชุ่มเย็น แผ่จากพระนิพพานลงมายังอรูปพรหมทุกภพ พรหมโลกทั้งสิบหกชั้น สวรรค์ทั้งหก  รุกขเทวดา ภูมิเทวดาทั่วอนันตจักรวาล มนุษย์และสัตว์ที่มีกายเนื้อขันธ์ห้าทั่วอนันตจักรวาล ดวงจิตโอปปาติกะสัมภเวสีทุกดวงดาวทั่วจักรวาล เปรตอสุรกายทั้งหลายทั่วทุกภพทั่วทุกภูมิ สัตว์นรกทั้งหลายในทุกขุม แผ่เมตตาไปยังทุกดวงจิต แผ่เมตตาไปยังทุกสรรพสัตว์ 

จากนั้นน้อมกระแสจากพระนิพพานบุญกุศลแห่งการปฏิบัติธรรมของเรา ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา ทั้งศีลที่เรารักษาในขณะที่ปฏิบัติพระกรรมฐาน ทานที่เราถวาย บุญที่เราทำ น้อมกระแสลงมาจากพระนิพพาน ลงมายังโลกมนุษย์ ลงมายังแม่พระธรณี  บุญทั้งหลายของข้าพเจ้าจงมารวมที่แม่พระธรณี บุญทั้งหลายของข้าพเจ้าจงลงมาสู่โลก เป็นกระแสบุญหล่อเลี้ยงเยียวยาให้โลกใบนี้มีบุญรักษา มีกระแสแห่งธรรม มีกระแสแห่งพระนิพพาน เป็นดินแดนที่ฟูมฟักธรรมะของพระพุทธองค์ เป็นดินแดนที่เป็นเนื้อนาบุญแห่งการปรากฏของพระอริยะเจ้า น้อมกระแสแห่งพระนิพพานลงมายังโลกมนุษย์ลงมายังแม่พระธรณี น้อมกระแสแห่งพระนิพพานลงมายังวัดวาอารามสถานปฏิบัติธรรมทุกแห่ง น้อมกระแสจากพระนิพพานกำลังพุทธานุภาพลงมายังพระพุทธรูปทุกพระองค์ ขอให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ พระบรมสารีริกธาตุพระธาตุอัฐิธาตุครูบาอาจารย์ ขอจงมีธาตุธรรมแห่งความศักดิ์สิทธิ์ พระเครื่อง เครื่องรางของขลังทั้งหลาย ขอจงมีพุทธานุภาพ มีความศักดิ์สิทธิ์  มีความบริสุทธิ์ ดวงจิตของพุทธบริษัทสี่ทั้งหลาย น้อมกระแสแห่งพระนิพพานลงมายังดวงจิต ลงมายังกายเนื้อของทุกคนทุกรูปทุกนาม กัลยาณมิตรทุกคน พุทธบริษัทสี่ทั้งหลาย ขอจงตั้งมั่นอยู่ในสัมมาทิฐิ สรุปรวมลงสู่มรรคมีองค์แปด มีกระแสธรรม มีกระแสแห่งพระนิพพานเชื่อมโยงอยู่กับพระนิพพาน ขอให้ในที่สุดจงกลับเข้ารูปเข้ารอยเข้าสู่กระแสพระนิพพานได้กันทุกรูปทุกนามทุกดวงจิตด้วยเถิด

จากนั้นให้เรากำหนดจิต ใช้อาทิสมานกายกราบลาพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระอรหันต์ทุกพระองค์ พระอริยะเจ้าทุกๆพระองค์ พระโพธิสัตว์พระมหาโพธิสัตว์ เทพพรหมเทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ่อแม่ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณทุกพระองค์ ขอน้อมถวายกุศลแห่งการปฏิบัติธรรม ทาน ศีล ภาวนา ของข้าพเจ้านับตั้งแต่อดีตตราบจนอนาคต ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ครูอุปัชฌาย์อาจาริยบูชา เทพพรหมบูชา ขอความนอบน้อมศรัทธาความกตัญญู จงดลบันดาลให้ข้าพเจ้ามีความเจริญในธรรมยิ่งขึ้นไป 

จากนั้นจึงกำหนดจิต เมื่อกราบลาแล้วก็กำหนดให้กายทิพย์ของเราเป็นแสงพุ่งลงมาจากพระนิพพานกลับลงมาสู่กายเนื้อขันธ์ห้าบนโลกมนุษย์ พร้อมกับน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมาชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ กระแสธรรม กระแสแห่งการปฏิบัติ กระแสความบริสุทธิ์แห่งพระนิพพาน จงเป็นประดุจน้ำทิพย์ชโลมชำระล้างขันธ์ห้า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จนใสสะอาดเป็นแก้ว โครงกระดูก เส้นเอ็น หลอดเลือด  กล้ามเนื้อทุกส่วน อวัยวะทุกส่วน ขอจงสะอาดใสเป็นแก้ว โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายจงสลายล้างออกไป ปอดที่มีเชื้อโรคที่เคยป่วยไข้ ขอจงถูกชำระด้วยธาตุธรรม ธรรมโอสถจงเยียวยาชำระล้าง ปอด อวัยวะภายใน หลอดลม สิ่งที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกาย ขอจงสลายหลุดออกไป เป็นอุจจาระปัสสาวะ เหงื่อและพลังงานที่หลุดปลดปล่อยออกไปทางปลายมือปลายเท้า ขอกระแสแห่งพระนิพพาน ธรรมโอสถชำระล้างฟอกธาตุขันธ์ของข้าพเจ้าทุกคนด้วยเทอญ

จากนั้นจึงกำหนดจิตหายใจเข้าลึกๆช้าๆ หายใจเข้าพุทธ ออกโธ หายใจเข้า ช้า ลึก ยาว ละเอียด

หายใจเข้าครั้งที่ 2  ช้า ลึก ยาว ธัมโม ช้า ลึก ยาว ละเอียด

หายใจเข้าครั้งที่ 3 ช้า ลึก ยาว ละเอียด สังโฆ 

ปลดปล่อยกำลังออกไป ค่อยๆถอดจิตช้าๆจากสมาธิ ลืมตาขึ้นช้าๆพร้อมกับจิตที่แย้มยิ้มเป็นสุขเบิกบาน ออกจากสมาธิด้วยจิตอันเป็นสุข 

จากนั้นกำหนดจิตต่อไป โมทนาสาธุกับเพื่อนกัลยาณมิตรทุกคนที่ฝึกที่ปฏิบัติธรรม ทั้งปฏิบัติร่วมกันในปัจจุบันขณะและที่มาฝึกมาฟังมาปฏิบัติในภายหลัง

ในวันนี้ก็ขออนุญาตเตือน ช่วงนี้เราจะสังเกตว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านมีอายุร่วมร้อยปีบ้างร้อยปีเกินกว่าร้อยปีบ้างมรณภาพติดต่อกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านก็เมตตาสงเคราะห์สะเดาะเคราะห์ให้กับแผ่นดินให้กับประเทศ เมื่อครูบาอาจารย์ท่านละขันธ์ห้า ละธาตุขันธ์ เราทั้งหลายก็จงเป็นบุคคลที่ไม่ประมาท พึงเร่งในการปฏิบัติ มีความขยันในการปฏิบัติ มีความสม่ำเสมอ ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย ฝึกในทุกครั้งทุกโอกาสที่เราสามารถฝึกได้ นอกจากเราติดภาระจริงๆ เมื่อไรก็ตามที่เราฝึกที่เราปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ความสม่ำเสมอนั้นก็จะทำให้เราสามารถเข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ แต่ถ้าหากเราปฏิบัติไปเบื่อก็เลิก การที่เราเบื่อก็เลิกมันก็หมายความว่าเราไม่เอาจริงเอาจัง เราไม่ได้ตั้งมั่นในความปรารถนาในความหลุดพ้นเพื่อพระนิพพานอย่างแท้จริง หรือไม่ได้ปรารถนาที่จะเอาดีในการปฏิบัติอย่างแท้จริง 

ดังนั้นการที่เราจะเอาดีได้เราต้องเป็นบุคคลที่มีความสม่ำเสมอ มีความเพียรที่ตั้งมั่น ฝึกเจริญสมาธิการปฏิบัติ ทำจนเหมือนกับเป็นกิจวัตร ตลอดชีวิตเราคิดง่ายๆว่าเราต้องอาบน้ำไปตลอดชีวิตไหม เราต้องกินข้าวไปตลอดชีวิตไหม ฉันใดก็ฉันนั้น การปฏิบัติธรรมการฝึกจิตก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติไปตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน การอาบน้ำเป็นการชำระล้างกาย การฝึกปฏิบัติเจริญสมาธิเป็นการชำระล้างใจ เราชำระล้างใจจากกิเลส เราชำระล้างใจจากสิ่งที่มากระทบ เราก็จำเป็นที่จะต้องฝึกทุกวัน

ดังนั้นจงอย่าได้ละเลิก  จงอย่าได้ทิ้งความเพียรความสม่ำเสมอ ตัวอย่างของบุคคลที่ฝึกแล้วด้วยความสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝึกจนกระทั่งความสม่ำเสมอนั้นเข้าถึงวสีคือทุกจุดในการปฏิบัติ เข้าถึงกรรมฐานเต็มกำลังในทุกจุด อานาปานสติก็ฝึกจนจิตหยุดนิ่ง อุเบกขารมณ์เอกัตคตารมณ์ กสิณก็ฝึกจนเข้าถึงปฏิภาคนิมิตสูงสุด อรูปก็เข้าถึงสภาวะความว่างสูงสุด ฝึกในกำลังของมโนมยิทธิยกจิตขึ้นพระนิพพานก็เข้าสู่สภาวะที่ยกจิตขึ้นพระนิพพานด้วยกำลังมโนมยิทธิเต็มกำลัง เข้าสู่อารมณ์ที่ตัดสังโยชน์สิบ เข้าสู่อารมณ์พระนิพพานเต็มกำลัง เมื่อไรที่เราทั้งสม่ำเสมอและฝึกเต็มกำลังในทุกกรรมฐาน เมื่อนั้นกำลังแห่งจิตตานุภาพเราก็มีความตั้งมั่นสูงส่งมากกว่าบุคคลที่มีความ เหยาะแหยะ  บุคคลที่มีความขึ้นลงมีความไม่สม่ำเสมอ

ดังนั้นพอเราเริ่มเข้าใจว่าการปฏิบัติที่เกิดผลสูงเกิดกำลังสูงเกิดอานิสงส์สูงทำได้อย่างไร เราก็ฝึกฝนให้กำลังจิตกำลังใจเรามีสภาวะเต็มกำลังไว้เสมอฉันนั้นเช่นกัน

สำหรับวันนี้ก็ฝากไว้สำหรับเราทุกคน เหตุการณ์ของโลกก็จะมีความวุ่นวาย มีความเปลี่ยนแปลงพอสมควร เรามีความเพียรในการปฏิบัติ กำลังจิตตานุภาพที่เราเข้าถึงความเต็มกำลังในทุกกรรมฐานจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งที่สำคัญในการนำพาให้โลกนี้เคลื่อนเข้าสู่ยุคชาววิไลได้ การเข้าถึงชาววิไลยุคแห่งชาววิไล อาจารย์ไม่เชื่ออย่างเด็ดขาดว่าอยู่เฉยๆถ้าถึงเวลามันจะเข้ามันจะถึงของมันเอง ยุคของชาววิไลจะปรากฏได้เมื่อคนส่วนใหญ่มีใจสูง ยุคของอภิญญาใหญ่จะปรากฏได้เมื่อคุณธรรมศีลธรรมเมตตาธรรมปรากฏ จนกระทั่งอภิญญาใหญ่นั้นสามารถใช้ได้ เพราะคนนำไปใช้ในสิ่งที่ไม่เบียดเบียนในสิ่งที่เป็นการเกื้อกูลสงเคราะห์ เมื่อนั้นอภิญญาใหญ่ก็ได้รับพุทธานุญาตให้สามารถใช้การได้ฉันนั้น ยุคความรุ่งเรืองของจิต ยุคความรุ่งเรืองของอภิญญาจิต ยุคความรุ่งเรืองของศีลธรรมก็จะกลับมา ดังนั้นกำลังสำคัญของเราทุกคน เราจะทำสมาธิได้มากได้น้อยแต่กำลังใจหากเราคิดว่าเราทำกรรมฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เราฝึกเมตตาสมาธิ เราน้อมกระแสจากพระนิพพานลงมายังโลก เราทำการฝึกกันยี่สิบคนกำลัง เพื่อช่วยคนเจ็ดพันล้านคน ถ้ากำลังเราเพิ่มเรามีความขยันมาเป็นร้อยคนพันคนหมื่นคนแสนคน ขยันฝึกขยันปฏิบัติมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังที่จะมาช่วยโลกช่วยผู้คนบนโลกมันก็เพิ่มพูนขึ้น ดังนั้นความสม่ำเสมอความเพียรของเราทุกคนล้วนแต่เป็นกำลังสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงให้โลกนี้ดีงามขึ้นได้ ให้ถือว่ากำลังใจที่เราทำเพื่อโลกเพื่อส่วนรวมนี้เป็นไปเพื่อสนองคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อสนองคุณบูรพมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทำนุบำรุงรักษาแผ่นดิน ทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนา ดังนั้นเมื่อใจของเราเป็นไปในการยังประโยชน์ต่อส่วนรวม ธรรมะกระแสบารมีแห่งเทพพรหมเทวาท่านเล็งเห็นมองเห็นท่านก็คุ้มครองปกป้องเรา ช่วยเหลือสงเคราะห์เกื้อกูลเราได้เต็มกำลัง เพราะกำลังใจเราเป็นไปเพื่อส่วนรวม ดังนั้นก็ฝากไว้ให้เราทุกคนคิด ตั้งจิตตั้งกำลังใจให้เข้มแข็ง

สำหรับวันนี้ก็ขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ พบกันใหม่สัปดาห์หน้า

อย่าลืมเขียนแผ่นทองอธิษฐานเพื่อพระนิพพานกันไว้เสมอ

เรียบเรียงและถอดความโดย คุณ Be Vilawan

You cannot copy content of this page